Wednesday, October 6, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์


พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางมารวิชัย ศิลปะลาว สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 24-25 ขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรต เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมากที่เรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ในภาษาไทยอีสาน มิใช่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะการสาบานและอธิษฐาน เล่ากันว่า ผู้ที่ผิดคำสาบานมักได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ จึงมีผู้ไปสาบานงดเว้นอบายมุขเลิกดื่มสุราและสักการะกราบไว้ขอให้คุ้มครอง รักษาอยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐานพระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นโดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหวัดต่าง ๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก

การเดินทาง จากตลาดพุทไธสง ถึงทางสี่แยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคฆภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีทางแยกเลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่”)

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็น เทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

ปราสาท พนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบ เสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วย

ศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

ปรางค์ ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและ ด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้าง ขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมี อายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก”

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4478 2715 โทรสาร 0 4478 2717

การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
รถส่วนบุคคล จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวเข้าบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2117 และ 2221)ไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร
2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)

รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง

ปราสาทหินเมืองต่ำ

ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัดเพราะไม่พบหลักฐานที่ แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 และมีลักษณะของศิลปะขอมแบบคลังซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู

ตัวปราสาท ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่น ๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ปรางค์ทุกองค์มีประตูเข้าสู่ภายในปรางค์ได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอก แต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้าอีกชั้นหนึ่ง การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐานอีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่าง งดงาม สำหรับปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ จากการขุดแต่งได้พบยอดปรางค์ทำด้วยหินทรายสลักเป็นรูปดอกบัว ตกอยู่ในบริเวณฐานปรางค์ หน้ากลุ่มปรางค์ยังมีวิหารเป็นอาคารก่ออิฐ 2 หลัง ตั้งหันหน้าตรงกับปรางค์ที่อยู่ด้านข้างทั้งสององค์ สิ่งก่อสร้างดังกล่าว ล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบ ๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า ระเบียงคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทั้งหมดยกเว้นซุ้มประตูของประตูชั้นในด้านทิศตะวันตกก่อด้วยหิน ทราย สลักลวดลายในส่วนต่าง ๆ อย่างงดงาม ตั้งแต่หน้าบัน ทับหลัง เสาติดผนัง ฯลฯ เป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลวดลายที่ผูกขึ้นจากใบไม้ ดอกไม้ที่มักเรียกรวม ๆ ว่า ลายพันธุ์พฤกษา

ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพง ชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งหินแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียรเกลี้ยง ๆ ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ ปราสาทหินเมืองต่ำ เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4478 2715 โทรสาร 0 4478 2717

การเดินทาง จากบุรีรัมย์ใช้ทางหลวงหมายเลข 219 จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 24 และเลี้ยวซ้ายเข้าทางหมายเลข 2117 ก็จะสังเกตเห็นปราสาทเมืองต่ำ (อยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งประมาณ 8 กิโลเมตร)

วนอุทยานเขากระโดง

วนอุทยานเขากระโดง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่อง รอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี ยอดสูงสุดประมาณ 265 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ สร้างโดยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนายสรวุฒิ บุญญานุศาสน์ และภายในวนอุทยานยังมีปราสาทหินเขากระโดง ซึ่งเดิมเป็นปราสาทหินทรายก่อบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาด 4 x 4 เมตร ตัวปราสาททรุดโทรมปรักหักพัง ต่อมามีผู้บูรณะและสร้างมณฑปครอบไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด การขึ้นไปยังเขากระโดงสามารถทำได้สองวิธี คือ เดินขึ้นบันได หรือ ขับรถขึ้นไปถึงยอดเขา ระหว่างทางจะพบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จะมีงานประเพณีขึ้นเขากระโดง

การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 219 บนเส้นทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย ประมาณ 6 กิโลเมตร

Monday, October 4, 2010

การเดินทางจังหวัดบุรีรัมย์

บุรีรัมย์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 410 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดบุรีรัมย์ได้หลายวิธี ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทาง และรถไฟ

การเดินทางไป บุรีรัมย์

โดยรถไฟ:
มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงทุกวัน สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน รถดีเซลรางปรับอากาศจะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่ารถยนต์มาก

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 เว็บไซต์ www.railway.co.th

โดยรถยนต์:
จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาเข้า ทางหลวงหมายเลข 2 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 224 และทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 410 กิโลเมตร

โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th บริษัทกิจการราชสีมา โทร. 0 2271 2390

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

โดยเครื่องบิน:
ปัจจุบันสายการบินพีบี แอร์ มีเที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิบินตรงไปยังสนามบินบุรีรัมย์ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0 2326 8000 เว็บไซต์ www.pbair.com

การเดินทางภายใน บุรีรัมย์

ใน ตัวเมืองบุรีรัมย์มีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งบุรีรัมย์ โทร. 0 4461 2534

นอกจาก นี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง หมู่บ้านทอผ้าไหมนาโพธิ์ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

ระยะทางจากอำเภอเมืองบุรีรัมย์ไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอห้วยราช 12 กิโลเมตร

อำเภอบ้านด่าน 15 กิโลเมตร

อำเภอกระสัง 32 กิโลเมตร

อำเภอลำปลายมาศ 32 กิโลเมตร

อำเภอคูเมือง 33 กิโลเมตร

อำเภอสตึก 40 กิโลเมตร

อำเภอพลับพลาชัย 40 กิโลเมตร

อำเภอโนนสุวรรณ 40 กิโลเมตร

อำเภอประโคนชัย 44 กิโลเมตร

อำเภอนางรอง 54 กิโลเมตร

อำเภอแคนดง 56 กิโลเมตร

อำเภอหนองหงส์ 60 กิโลเมตร

อำเภอพุทไธสง 64 กิโลเมตร

อำเภอบ้านกรวด 66 กิโลเมตร

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 68 กิโลเมตร

อำเภอชำนิ 70 กิโลเมตร

อำเภอนาโพธิ์ 78 กิโลเมตร

อำเภอปะคำ 78 กิโลเมตร

อำเภอหนองกี่ 83 กิโลเมตร

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ 85 กิโลเมตร

อำเภอโนนดินแดง 92 กิโลเมตร

อำเภอละหานทราย 100 กิโลเมตร

Saturday, October 2, 2010

ข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์

บุรีรัมย์ คือดินแดนภูเขาไฟเมืองไทย และเป็นแหล่งรวมอารยธรรมขอมโบราณ จึงมีความสำคัญในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

นอก จากนี้ บุรีรัมย์ยังได้รับสมญานามว่าดินแดนปราสาทหิน อันมากมายไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีงานศิลปหัตถกรมลือเลื่องคือผ้าไหมและผ้ามัดหมี่นาโพธิ์

จังหวัดบุรีรัมย์ตั้งอยู่ในเขตภาคอีสานตอนล่าง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือ พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อย เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขาและภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 10,321 ตารางกิโลเมตร จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 17 ของประเทศ

จากการศึกษา ของนักโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือมีการค้นพบหลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐและปราสาทหินจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งพบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่า " เครื่องถ้วยเขมร " ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไป

หลังจาก สมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัย กรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ บุรีรัมย์จึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนถึงปัจจุบันนี้

จังหวัด บุรีรัมย์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอประโคนชัย อำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก อำเภอกระสัง อำเภอบ้านกรวด อำเภอคูเมือง อำเภอหนองกี่ อำเภอปะคำ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองหงส์ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอห้วยราช อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชำนิ อำเภอโนนดินแดง อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอแคนดง และอำเภอบ้านด่าน